3 ปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อการผลิตหรือการส่งออกเนื้อสุกร

         ถึงแม้ว่าจะมีการประกาศการพบเชื้อโรค ASF ในประเทศไทยแล้ว ทางกรมปศุสัตว์ก็ได้มีการเตรียมความพร้อมและรับมือผลกระทบด้านการส่งออกเนื้อสุกรและผลิตภัณฑ์แปรรูปต่างๆ โดยตามหลักมาตรฐานสากล การส่งออกเนื้อสุกรดิบและผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสุกรของประเทศไทยจะยังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องจากมีตลาดส่งออกหลักอย่างฮ่องกงและญี่ปุ่น แต่ไม่ใช่แค่การพบเชื้อโรค ASF เท่านั้นที่เป็นปัญหาต่อการผลิตและส่งออกเนื้อสุกรของไทย
วันนี้จะมาชวนคุยถึง 3 ปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อการผลิตหรือการส่งออกเนื้อสุกรกัน

 

ปัจจัยที่หนึ่ง

         โรคระบาดในสุกร ยังไงในฟาร์มเลี้ยงสุกรก็จะต้องมีปัจจัยเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดโรคระบาดในสุกรได้ แม้ว่าในปัจจุบันการจัดการฟาร์มสุกรจะมีประสิทธิภาพและสามารถควบคุมโรคระบาดได้ดีขึ้น ไม่ใช่เพียงแค่โรค African swine fever แต่ยังรวมถึง โรคท้องร่วงติดต่อในสุกร (Porcine Epidemic Diarrhea: PED) และโรคระบบทางเดินหายใจและระบบสืบพันธุ์ (Porcine Reproductive and Respiratory Syndrome: PRRS) ที่มักพบได้บ่อยในหลายๆ ฟาร์ม การยกระดับความปลอดภัยทางชีวภาพ (Farm biosecurity) เพื่อเฝ้าระวังและป้องกันโรคส่งผลให้ต้นทุนการผลิตของเกษตรกรปรับตัวสูงขึ้น ประกอบกับประเทศไทยยังไม่ได้รับการรับรองให้ปลอดโรค FMD จึงเป็นข้อจำกัดการส่งออกเนื้อสุกรชำแหละและเนื้อสุกรแปรรูปไปต่างประเทศ

ปัจจัยที่สอง

         ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ ต้นทุนอาหาร คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 60-80 ของต้นทุนการผลิต แล้วยังซ้ำเติมด้วยราคาวัตถุดิบที่มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นในช่วงเวลานี้อีกด้วย ยกตัวอย่างเช่น

ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

         ในแต่ละปีข้าวโพดเป็นธัญพืชที่ไทยผลิตได้เองในประเทศราว 5 ล้านตันต่อปี น้อยกว่าความต้องการใช้ที่ 8 ล้านตันต่อปี ซึ่งทำให้ขาดแคลนการนำข้าวโพดไปใช้จึงเป็นที่มาของความต้องการนำเข้าข้าวโพดจากประเทศต่างๆ
โดยในปัจจุบันอธิบดีกรมปศุสัตว์ได้มีความเห็นและข้อกังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้ และได้มีการกำหนดนโยบายการส่งเสริมการปลูกข้าวโพดภายในประเทศให้มากขึ้น ส่งเสริมการพัฒนาและปรับปรุงพันธุ์ให้สามารถมีผลผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น และในเรื่องการนำเข้าข้าวโพด ทางภาครัฐเปิดให้นำเข้าข้าวโพดภายใต้กรอบขององค์การการค้าโลก (WTO) และข้อตกลงเขตการค้าเสรี (AFTA) ยกเลิกโควต้า ภาษีและค่าธรรมเนียม เพื่อขยายโอกาสในการเข้าถึงแหล่งวัตถุดิบให้มาขึ้น และเป็นการลดต้นทุนการผลิตอาหารสัตว์

กากถั่วเหลือง

         การผลิตอาหารสัตว์ ต้องใช้กากถั่วเหลืองประมาณ 24% ของวัตถุดิบทั้งหมด แต่ละปีจะใช้ประมาณ 4 ล้านตัน ซึ่งได้จากโรงงานสกัดน้ำมันพืชในประเทศไทยเพียง 1 ล้านกว่าตัน ที่เหลือก็ต้องนำเข้ากากถั่วเหลืองเช่นกัน วัตถุดิบตัวนี้ แต่เดิมได้มีข้อกำหนดการนำเข้า คืออนุญาตให้โรงงานน้ำมันพืชนำเข้าเมล็ดถั่วเหลืองได้เสรีโดยไม่ต้องเสียภาษี แต่หากนำเข้ากากถั่วเหลืองต้องเสียภาษี 2% โดยในปัจจุบันได้มีกรยกเลิกภาษีนำเข้า เพื่อเป็นการลดต้นทุนในการผลิต

         แต่ทั้งนี้ในเรื่องของเมล็ดถั่วเหลือง ที่สามารถสกัดเป็นน้ำมันพืชได้ 20% และส่วนที่เหลือจะกลายเป็น “กากถั่วเหลือง” การขายให้ผู้ผลิตอาหารสัตว์กลับขายในราคาที่ใกล้เคียงกับ “กากถั่วเหลืองนำเข้า” เสมือนว่าเป็นทุนแฝงหรือการเอากำไรเพิ่มอีก 2% ทั้ง ๆ ไม่ได้เสียภาษีนำเข้า

ปัจจัยที่สาม

         การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 อาจส่งผลให้ความต้องการบริโภคเนื้อสุกรทั้งในและต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น ซึ่งอาจเป็นปัจจัยเชิงบวกที่กระตุ้นให้เกษตรกรเพิ่มปริมาณการผลิตสุกรให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด แต่อย่าลืมว่าไม่ใช่แค่ราคาเนื้อสุกรที่เพิ่มสูงขึ้น ยังมีปัจจัยด้านการเลี้ยง ด้านการขนส่ง เช่น ราคาน้ำมัน ที่ปรับตัวขึ้นเช่นกัน ปัจจัยเหล่านี้เป็นสาเหตุทำให้ต้นทุนการผลิตสุกรเพิ่มขึ้น

#Sanimals #ซานิมอลส์
#ปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อการผลิตเนื้อสุกร
#ปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกเนื้อสุกร 

และสามารถติดตามเนื้อหาบทความ ในรูปแบบ Social ต่างๆ ได้ที่