
เทคนิคเพิ่มความแข็งแรงให้กับเปลือกไข่ เพิ่มคุณภาพเปลือกไข่ ต้องเลี้ยงไก่อย่างไร (Improving egg shell quality)
การเลี้ยงไก่ไข่ในประเทศไทย การนำเข้าพ่อแม่พันธุ์ไก่จากต่างประเทศ เพื่อนำมาผลิตลูกไก่ไข่ แม่พันธุ์จะเริ่มให้ไข่เมื่ออายุมากกว่า 72 สัปดาห์ โดยปกติแล้วแม่ไก่จะให้ผลผลิตนานประมาณ 1 ปีแล้วจะถูกจำหน่ายเป็นไก่ปลดระวาง เนื่องจากผลผลิตที่ได้จะลดลง รวมทั้งไข่ที่ได้จากแม่ไก่ที่มีอายุมากขึ้นยังมีคุณภาพลดลงลงอีกด้วย เช่น เปลือกไข่บาง แตกร้าวง่าย ปัญหาไข่นิ่ม เปลือกไข่ผิดปกติมากขึ้น
ตามธรรมชาติเมื่อแม่ไก่จะเริ่มผลัดขนตอนอายุเพิ่มขึ้น ระยะนี้แม่ไก่จะอยู่ในสภาวะเครียด ส่งผลให้ฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับความสมบูรณ์พันธุ์ลดลง (Estrogen) รวมถึงการดูดซึมแคลเซียมเพื่อไปใช้สร้างความแข็งแรงให้กับเปลือกไข่ก็ลดลงด้วยเช่นกัน ด้วยเหตุนี้แม่ไก่ที่อายุประมาณ 1 ปี จึงไม่คุ้มค่าต่อการเลี้ยงต่อไป จำเป็นต้องปลดระวางและเริ่มเลี้ยงไก่รุ่นใหม่ การเสริมแคลเซียมจากแหล่งภายนอกร่างกายจึงเป็นแนวทางหนึ่งในการจัดการฟาร์มที่สามารถยืดระยะเวลาการไข่ของแม่ไก่ ซึ่งจะทำให้ผู้ผลิตได้ผลตอบแทนที่สูงขึ้น
แล้วไก่ต้องการแคลเซียมมากแค่ไหน ?
ไก่รุ่นจะมีความต้องการแคลเซียมในปริมาณน้อยคือ ประมาณ 0.8% ของปริมาณอาหารที่ต้องการในหนึ่งวัน แต่เมื่อไก่เริ่มให้ไข่ความต้องการแคลเซียมจะเพิ่มขึ้นจากเดิมมากถึง 4 เท่า เพื่อใช้ในการสร้างเปลือกไข่ ปกติในร่างกายไก่นั้นจะเก็บแคลเซียมไว้ที่กระดูกขา (Tibia) แล้วจะค่อยดึงแคลเซียมเหล่านั้นออกมาใช้ประโยชน์ สำหรับไก่ไข่มีคำแนะน่าจากนักโภชนาการอาหารสัตว์ว่าควรจะเพิ่มแคลเซียมในอาหารขึ้นมาก่อนที่ไก่จะเริ่มให้ไข่ฟองแรกประมาณ 10 วัน เพื่อให้มีการสะสมแคลเซียมในกระดูกเพียงพอที่จะถูกดึงไปใช้ในการสร้างเปลือกไข่ เพื่อความสะดวกในทางปฏิบัติ บริษัทผู้ผลิตสายพันธุ์ไก่ไข่บางรายจะแนะนำให้เริ่มให้อาหารสำหรับไก่ไข่พร้อมกับการใช้โปรแกรมแสงกระตุ้นให้ไก่เข้าสู่วัยเจริญพันธุ์หรือให้ไข่ฟองแรก
การปรับปรุงคุณภาพของเปลือกไข่
ต้องมีการเพิ่มปริมาณแคลเซียมให้อยู่ในกระเพาะบดในเวลาที่มีการสะสมแคลเซียมบนเปลือกไข่ ซึ่งจะส่งผลดีต่อคุณภาพเปลือกไข่ทั้งความแข็งแรงและสีของเปลือกไข่ โดยมีการจัดการดังนี้
เริ่มมีการกระตุ้นให้กินอาหารมากขึ้นในช่วง 6 ชั่วโมงสุดท้ายก่อนถึงเวลาการปิดแสง ส่วนในช่วงเที่ยงควรจัดการให้มีเวลาที่รางอาหารว่างเปล่าเพื่อกระตุ้นให้ไก่อยากกินอาหารเพิ่มมากขึ้นในช่วงบ่าย
สภาพอากาศที่ร้อน ไก่จะเกิดความเครียดส่งผลให้เวลาในการวางไข่ช้าออกไป ไก่จะหอบซึ่งส่งผลให้ไก่สูญเสียอิเล็กโทรไลต์ต่างๆ เช่น คาร์บอนไดออกไซด์และไบคาร์บอร์เนต (Bicarbonate) ในกระแสเลือด ซึ่งทำให้สมดุลของเกลือแร่ในเลือด หรือของเหลวในร่างกายเปลี่ยนแปลงไป ส่งผลกับการสร้างเปลือกด้วยเช่นกัน ดังนั้นจึงต้องมีการปรับสัดส่วนการให้อาหารโดยให้อาหารช่วงเที่ยงคืนและตอนเช้ามากขึ้นเพื่อให้มีแคลเซียมเพียงพอส่าหรับการสร้างเปลือกไข่