
ข้าวโพด (Corn หรือ Maize) เป็นวัตถุที่เป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญในอาหารสัตว์ โดยเฉพาะในไก่จะนิยมใช้มาก นอกจากเป็นแหล่งพลังงานและมีสารแคโรทีน (carotene) ซึ่งช่วยทำให้สีของเนื้อไก่และไข่แดงมีความสดน่ากินมากขึ้น อีกทั้งข้าวโพดบดยังใช้งานง่ายและให้คุณค่าทางอาหารที่สูง ช่วยประหยัดต้นทุนให้กับโรงงานผลิตอาหารสัตว์เนื่องจากเป็นวัตถุดิบที่ราคาไม่แพง แต่ในประโยชน์และสรรพคุณที่กล่าวมากมายของข้าวโพด ก็ยังพบปัญหาของการใช้ข้าวโพดในการเลี้ยงสัตว์อยู่
ปัญหาของการใช้ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์
1.ฤดูกาลและราคา
นอกฤดูกาลผลิตและต้นฤดูกาลผลิต ราคาจะสูงแล้วค่อยลดลงจนกลับสู่ราคาปกติในช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยว รวมถึงราคาข้าวโพดในประเทศจะแปรผันตามราคาตลาดโลกและการส่งออก ทั้งนี้เกษตรแก้ไขปัญหาโดยการเสริมเอนไซม์ เพื่อให้ได้สารอาหารและพลังงานจากการกินข้าวโพดมากยิ่งขึ้น ยกตัวอย่างเช่น การเสริมเอนไซม์ Protease ในอาหารสัตว์จะช่วยย่อยปริมาณโปรตีนประมาณ 8% ที่มีอยู่ในข้าวโพด หรือการเสริม Emulsifier ในอาหารสัตว์จะช่วยย่อยปริมาณไขมันที่มีอยู่ในข้าวโพดประมาณ 3% สัตว์ได้รับสารอาหารปริมาณที่มากขึ้น
2.การควบคุมความชื้น
ข้อเสียของข้าวโพดชื้นคือ เกิดการหมักร้อน (Fermentation) ทำให้เชื้อรา (Aspergillus spp.) เจริญเติบโต ซึ่งจะผลิตสารพิษที่ก่อให้เกิดอันตรายหากสัตว์ได้รับเข้าสู่ร่างกาย รวมทั้งความร้อนจากการหมักจะทำให้แมลงมาวางไข่ เช่น แมลงดวงงวง แมลงหางหนีบ แมลงช้างปีใส ไข่ที่ฟักกลายมาเป็นตัวอ่อนแล้วจะมาทำลายเมล็ดข้าวโพดและทำให้สูญเสียผลผลิตได้อีก
ดังนั้นจึงจำเป็นต้องควบคุมความชื้น ปกติแล้วข้าวโพดที่แก่แห้งในไร่จะมีความชื้นอยู่ประมาณ 30% เมื่อตากแห้งทั้งฝักจะมีความชื้นประมาณ 20% เมื่อสีเอาเมล็ดออกจากฝัก แล้วตากอีกทีจะมีความชื้นอยู่ 15-16%
นอกจากนี้ยังมีปัญหาในเรื่องสภาวะอากาศแปรปรวน ส่งผลให้คุณภาพของดินเสื่อมโทรม แหล่งผลิตไม่เพียงพอ การขาดแหล่งผลิตเมล็ดพันธุ์ที่ดี ทำให้เกิดโรคระบาดระหว่างการเพาะปลูก ต้นทุนการผลิตที่สูง รวมถึงเสถียรภาพในเรื่องราคา ปัญหาเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการผลิตและส่งออกข้าวโพดรวมทั้งการนำข้าวโพดมาใช้เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ทั้งสิ้น
โดยการลดปัญหาที่เกิดจากสารพิษจากเชื้อราที่เกิดขึ้นจากความชื้นสามารถใช้ตัวจับสารพิษจากเชื้อรา (mycotoxin binder) เพื่อช่วยลดความรุนแรงของโรค ที่จะเกิดขึ้นในตัวสัตว์ต่อไปได้