
มากกว่า 70% การสูญเสียลูกสุกรแรกคลอด เกิดขึ้นในช่วง 1-4 วันแรก
สาเหตุเป็นเกิดจากอะไร ?
70% หรือ 2 ใน 3 ของลูกสุกรดูดนมจะเกิดขึ้นในช่วง 4 วันแรกของชีวิต ซึ่ง 45% อาจเกิดจากการถูกแม่ทับและ เกือบ 20% ของจำนวนสูญเสียที่ตายเพราะไม่ได้รับนมน้ำเหลืองในปริมาณที่เพียงพอ ลูกสุกรที่เกิดมาใหม่ต้องการพลังงานจำนวนมากเพื่อใช้ในการเจริญเติบโต ซึ่งพลังงานที่นำมาใช้ส่วนมากมาจากสารอาหารในนมและนมน้ำเหลืองของแม่
นมน้ำเหลืองจึงมีบทบาทสำคัญมาก
โดยเฉพาะในช่วง 24 ชั่วโมงแรกของลูกหมูแรกคลอด เป็นช่วงเวลาที่ต้องการภูมิคุ้มกันหรือ Antibody ผ่านทางการได้รับนมน้ำเหลืองจากแม่ ซึ่งในช่วงเวลานี้ถ้าหากลูกสุกรไม่ได้รับภูมิคุ้มกันที่มากเพียงพอ ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดความสูญเสียในลูกสุกรดูดนมได้
3 ปัจจัยที่ส่งผลต่อคุณภาพของนมน้ำเหลืองหรือทำให้ลูกสุกรได้รับนมน้ำเหลืองไม่เพียงพอ
1) ในบางกรณีที่ฟาร์มมีการใช้ฮอร์โมนเหนี่ยวนำการคลอดเพื่อเร่งการผลิต จะส่งผลกระทบต่อนมน้ำเหลือง เนื่องจากเซลล์ที่สร้างน้ำนมจะยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ ภูมิคุ้มกันหรือสาร Antibody ต่างๆ ในน้ำนมจะไม่เพียงพอ ลูกสุกรที่ได้รับน้ำนมเข้าไปก็จะมีการพัฒนาภูมิคุ้มกันที่ไม่ดี
2) ขนาดของลูกสุกรเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ลูกสุกรได้รับภูมิคุ้มกันจากนมน้ำเหลืองไม่เพียงพอ โดยเฉพาะลูกสุกรที่มีน้ำหนักตัวน้อยมีโอกาสได้รับนมน้ำเหลืองจากแม่น้อย ทำให้อัตราการเลี้ยงรอดต่ำ และมีโอกาสป่วยหรือตายสูง
3) ในระหว่างการอุ้มท้อง คุณภาพอาหารที่แม่สุกรได้รับก็มีส่วนสำคัญต่อการสร้างน้ำนมด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะช่วงสุดท้ายองระยะการอุ้มท้อง แม่สุกรควรได้รับกากใย (fibers) จากในอาหารสูงขึ้น จะทำให้สร้างนมน้ำเหลืองได้มากกว่าแม่สุกรที่กินอาหารที่มีกากใยต่ำ (fibers)