โรคที่มากับเนื้อหมู

         โรคติดเชื้อสเตรปโตคอคคัส ซูอิส (Streptococcus suis) หรือมักได้ยินกันในชื่อ “โรคหูดับ” พบรายงานการติดในคนครั้งแรกที่ประเทศเดนมาร์ก ซึ่งเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย สามารถเข้าสู่ร่างกายคนได้ผ่านทางการกินเนื้อหมู หรือเครื่องในที่ไม่ผ่านการปรุงสุก การสัมผัสหมูที่ป่วยเป็นโรคเชื้อก็สามารถเข้าสู่ร่างกายผ่านทางบาดแผลหรือเยื่อเมือกต่างๆ ได้เช่นกัน

         ในประเทศไทยพบรายงานผู้ป่วยติดเชื้อครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2530 ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเป็นเพศชายที่มีประวัติสัมผัสกับหมู กินเนื้อหมูไม่ผ่านการปรุงสุก และมีประวัติการดื่มสุราร่วมด้วย ในปัจจุบันโรคติดเชื้อ Streptococcus suis จัดเป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน (Zoonosis) แต่ยังไม่มีรายงานการติดต่อจากคนสู่คน

สัญญาณหรืออาการที่บ่งบอกว่าเราป่วยเป็นโรค

         คนที่ติดเชื้อนี้สามารถพบอาการได้ตั้งแต่การมีไข้สูง ปวดเมื่อยตามตัวและข้อ ปวดศีรษะ และมีจ้ำเลือดตามผิวหนัง หากเชื้อขึ้นสมอง จะทำให้เยื่อหุ้มสมองอักเสบ และแสดงอาการทางประสาทได้ เช่น การได้ยินลดลง อาจรุนแรงถึงสูญเสียการได้ยินได้ มีอาการเวียนศีรษะหรือบ้านหมุน เสียการทรงตัว

         ดังนั้นการรับประทานเนื้อหมูที่ปรุงสุกจะเป็นวิธีป้องกันการติดเชื้อที่ดีที่สุดสำหรับผู้บริโภค เนื่องจากเชื้อจะถูกทำลายเมื่อเนื้อหมูถูกทำให้สุกดี ส่วนเกษตรกรผู้เลี้ยงหมู คนทำงานในโรงฆ่าสัตว์ คนชำแหละเนื้อสัตว์ สัตวแพทย์ และสัตวบาล ซึ่งเป็นบุคคลที่มีโอกาสสัมผัสหมูอาจป้องกันการติดเชื้อจากการสวมรองเท้า ถุงมือ และเสื้อผ้าที่รัดกุม และมีความเหมาะสมกับงานที่ปฏิบัติ ล้างมือและเท้าด้วยน้ำสะอาดหลังจากการสัมผัสสุกร การรณรงค์ให้ความรู้เรื่องการบริโภคเนื้อหมูและเครื่องในปรุงสุกและความรู้เกี่ยวกับโรคนี้ก็เป็นอีกหนึ่งทางที่จะช่วยลดอุบัติการณ์ของโรคติดเชื้อนี้ลงได้

#Sanimals #ซานิมอลส์

#โรคไข้หูดับ #แบคทีเรียในหมู #SuddenHearingLoss

และสามารถติดตามเนื้อหาบทความ ในรูปแบบ Social ต่างๆ ได้ที่