Coronavirus ในสุกร

         โรคพีอีดี (Porcine Epidemic diarrhea; PED) เกิดจากเชื้อไวรัสในกลุ่มโคโรนาไวรัส (Coronavirus) ก่อความรุนแรงในระบบทางเดินอาหาร สุกรป่วยจะแสดงอาการท้องเสีย ประเทศไทยพบรายงานการติดเชื้อครั้งแรกในปี พ.ศ.2538 และพบการอุบัติซ้ำจนกลายเป็นโรคประจำถิ่นเมื่อปลายปี พ.ศ.2550 ฟาร์มที่เคยพบการระบาดแล้ว มักเกิดการระบาดซ้ำสร้างความสูญเสียให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรต่อเนื่อง การส่งผ่านโรคจะเกิดจากตัวสุกรกินอุจจาระที่มีเชื้อปนเปื้อนอยู่ สุกรจะแสดงอาการป่วยหลังจากได้รับเชื้อ 3-4 วัน และสามารถพบอาการป่วยได้ตลอดทั้งปี

 

สัญญาณที่บ่งบอกว่าสุกรป่วยเป็นโรค

ในลูกสุกรดูดนมจะพบอาการซึม มีไข้ อ่อนแรง ถ่ายเหลวและมีกลิ่นคาว นอนสุมกัน เกิดภาวะแห้งน้ำและตายในที่สุด ส่วนสุกรรุ่นและขุนจะพบอาการซึม เบื่ออาหารและถ่ายเหลวเช่นกัน แต่อัตราการตายจะต่ำกว่าลูกสุกรดูดนมและพบการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนได้ ในแม่สุกรที่มีการติดเชื้อ จะพบอาการมีไข้ ไม่กินอาหาร และส่งผลให้เกิดภาวะนมแห้งได้ ลูกสุกรแรกคลอดอาจไม่ได้รับภูมิคุ้มกันจากนมน้ำเหลืองของแม่สุกร
ลักษณะเด่นของโรคพีอีดี คือสุกรทุกช่วงอายุสามารถติดเชื้อได้ และจะแสดงอาการอาเจียนและท้องเสียเหมือนกัน แต่อัตราการตายแตกต่างกัน ซึ่งในลูกสุกรดูดนมที่อายุต่ำกว่า 7 วัน จะพบอัตราการตายสูงถึง 100% ได้ในช่วงที่มีการระบาดแบบเฉียบพลันของโรค อาการแสดงที่เด่นชัดมากๆ จะสังเกตได้ว่าลูกสุกรจะอาเจียนเป็นลิ่มนม ท้องเสียเหลวเป็นน้ำและนอนทับบนตัวแม่ และสุดท้ายเมื่อสุกรสูญเสียน้ำเป็นจำนวนมากจากอาการท้องเสียรุนแรงจะทำให้สุกรเกิดภาวะแห้งน้ำ (Dehydration) และเป็นสาเหตุของการตาย

 

การควบคุมและป้องกันโรคภายในฟาร์ม

1. การสร้างภูมิคุ้มกันผ่านการกินลำไส้ที่ติดเชื้อ (Intestinal feedback) เป็นการสร้างภูมิคุ้มกันระดับฝูงให้กับแม่อุ้มท้องและสุกรสาวทั้งหมดโดยป้อนไส้ลูกสุกรที่แสดงอาการติดเชื้อ หลังจากนั้น 2-3 วัน แม่สุกรจะแสดงอาการป่วย เช่น ซึม ไม่กินอาหารหรือท้องเสีย ซึ่งเป็นการยืนยันว่าแม่สุกรได้รับเชื้อแล้วและมีการสร้างภูมิคุ้มกันตามมา หลังจากนั้นควรเสริมยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน
2. การแยกกลุ่มและกักกันโรค ฟาร์มต้องมีระบบเฝ้าระวัง ควบคุม และป้องกันโรคที่ดี หากพบสุกรป่วยให้กักบริเวณเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคไปจุดอื่นๆ ภายในฟาร์ม รวมถึงคนทำงานภายในฟาร์มควรเข้มงวดเรื่องการฆ่าเชื้อก่อนเข้าโรงเรือน และไม่ทำงานข้ามเล้าที่ตนเองไม่มีส่วนรับผิดชอบ
3. ล้างและทำความสะอาดโรงเรือนด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ จากนั้นควรมีการพักคอก 5-7 วันก่อนนำสุกรเข้ามาใหม่
4. พิจารณาการคัดทิ้ง โดยการทำลายซากสุกรต้องมีบริเวณเฉพาะที่อยู่ภายนอกพื้นที่เลี้ยงสุกรเพื่อป้องกันการปนเปื้อนและแพร่ระบาดอีกรอบ
5. พิจารณาการรักษาตามอาการ โดยให้ยาป้องกันโรคแทรกซ้อนจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เช่น การปั้มปากด้วยยา โคลิสติน (Colistin) หรือเอนโรฟร๊อกซาซิน (Enrofloxacin) ในลูกสุกรที่แสดงอาการท้องเสีย ร่วมกับการให้สารน้ำอิเล็กโทรไลต์เพื่อลดภาวะแห้งน้ำ
 

และสามารถติดตามเนื้อหาบทความ ในรูปแบบ Social ต่างๆ ได้ที่