
เมื่อลูกสุกรเกิดขึ้นมาใหม่ จะยังไม่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันด้วยตนเองได้ จำเป็นต้องอาศัยภูมิคุ้มกันจากนมน้ำเหลืองที่ได้รับผ่านทางแม่ อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายปัจจัยที่ทำให้ภูมิคุ้มกันของลูกสุกรลดน้อยลง ทำให้อ่อนแอและง่ายต่อการเป็นโรคต่างๆ มาดู 4 ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อภูมิคุ้มกันของลูกหมูกัน
1. อายุของลูกหมู
อย่างที่ได้เกริ่นไว้ข้างต้น ลูกสุกรเกิดใหม่จะยังมีภูมิคุ้มกันต่ำ และใช้เวลาประมาณ 4 สัปดาห์ในการพัฒนาระบบภูมิคุ้มกันให้มีความสมบูรณ์ ดังนั้นการพัฒนาระบบภูมิคุ้มกันในช่วงแรกเกิดของลูกสุกร จำเป็นต้องได้รับการถ่ายทอดภูมิคุ้มกันจากแม่โดยผ่านการได้รับนมน้ำเหลืองภายใน 24 ชั่วโมงแรกของการมีชีวิต
2. สารอาหาร
การให้อาหารและน้ำที่ไม่เหมาะสมใ สารอาหารที่ลูกสุกรได้รับในแต่ละวันจะไม่เพียงพอ และส่งผลให้ลูกสุกรอ่อนแอและติดเชื้อในเวลาต่อมา
3. ความเครียด
ลูกสุกรจำเป็นต้องได้รับการตอน (เพศผู้) ตัดเขี้ยว ตัดหาง ในระยะเวลาต่อมา ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดแผลติดเชื้อและภูมิคุ้มกันต่ำลง รวมถึงการหย่านมที่ไม่พร้อม ลูกสุกรยังไม่สามารถกินน้ำหรืออาหารเองได้ส่งผลให้สุกรเกิดความเครียดและมีภูมิคุ้มกันที่ต่ำลงได้เช่นกัน
4. การติดเชื้อ
เชื้อโรคที่มีการระบาดวนเวียนอยู่ในฝูงสุกรส่วนมากมักมีกลไกในการรบกวนการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันของลูกสุกร ซึ่งสุดท้ายแล้วจะมีผลกระทบต่อการทำวัคซีน ทำให้การทำวัคซีนไม่มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคและเกิดการติดเชื้อได้ในเวลาต่อมา
นอกจากนี้แล้วความเครียดในทุกๆ รูปแบบ การเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม การได้รับสารพิษจากเชื้อราที่สะสมอยู่ในอาหาร หรือสารเคมีอื่นๆ ที่เป็นพิษ ล้วนแล้วแต่มีผลรบกวนการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันได้ทั้งสิ้น