
แนวทางการนำพืชสมุนไพรมาใช้ในการเลี้ยงสัตว์
สมุนไพรไทยหลายชนิดมีสรรพคุณทางยา บางชนิดสามารถใช้ทดแทนการใช้ยาปฏิชีวนะได้ ในปัจจุบันทั้งส่วนรัฐบาลและภาคเอกชนเริ่มหันมาให้ความสนใจในการศึกษาหรือลงทุนวิจัยนำพืชสมุนไพรมาใช้แทนยาในอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์มากขึ้น
หลายครั้งมีการจับมือร่วมกันกับหน่วยงานสนับสนุนการวิจัย เช่น สำนักงานคณะกรรมการการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และกรมปศุสัตว์เองก็มีการจัดประชุมวิชาการเพื่อเผยแพร่ความรู้หรือแนวทางการนำสมุนไพรมาใช้เลี้ยงสัตว์เช่นกัน
สรรพคุณของสมุนไพรที่น่าสนใจ เหมาะที่จะนำมาต่อยอดทำวิจัยและพัฒนามาใช้ในอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์มีอะไรบ้าง ?
1.สมุนไพรนั้นควรจะเป็นพืชอายุสั้นที่ปลูกได้ทั่วไป เพราะการเพาะปลูกที่ง่าย ย่อมเก็บเกี่ยวผลผลิตมาใช้ได้รวดเร็วเร็ว เราสามารถควบคุมการผลิตได้
2.มีการศึกษาขั้นต้นแล้วว่ามีสารออกฤทธิ์งมีสรรพคุณเหมาะกับการนำไปใช้ได้จริง เช่น ต้านการอักเสบ เพิ่มระบบภูมิคุ้มกันให้กับสัตว์
3.ควรมีความเป็นพิษต่ำ และนำไปใช้ได้อย่างปลอดภัย ส่วนใหญ่จะเป็นพืชที่ใช้เป็นอาหารอยู่แล้วหรือสมุนไพรที่เคยใช้มานานโดยไม่ก่อให้เกิดโทษใดๆ
ปัจจุบันสมุนไพรที่ได้รับการศึกษาหรือสนใจ จะเป็นพวกฟ้าทะลายโจร ขมิ้นชัน กระเทียม ข่า พริก และอื่นๆ ยกตัวอย่างเช่น ฟ้าทะลายโจรก็จะมีคุณสมบัติป้องกันการอักเสบ-ติดเชื้อ มีสารต้านอนุมูลอิสระ และต่อต้านแบคทีเรียได้บางชนิด หรือใบออริกาโนบางครั้งมีการนำมาใช้เป็นน้ำมันหอมระเหยที่มีกลิ่นและรสชาติดี ก็จะช่วยกระตุ้นความอยากกินอาหาร สืบเนื่องไปถึงการหลั่งน้ำลาย น้ำย่อยซึ่งช่วยให้ระบบการย่อยดีขึ้น
แต่การนำสมุนไพรมาเสริมเติมในอาหารสัตว์เชิงอุตสาหกรรมยังคงมีข้อจำกัดและปัญหาบางอย่าง เช่น ความสม่ำเสมอของปริมาณและคุณภาพของผลิตภัณฑ์ รวมทั้งรูปแบบที่เหมาะสมในการนำไปใช้ผสมในอาหารสัตว์ ต้นทุนการผลิตและการยอมรับของผู้บริโภค ซึ่งต้องมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมต่อไปในอนาคต